ผลการน้อมนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์
บทความตอนนี้ผมได้ร่างแนวทางการเขียนไว้คร่าวๆ นานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีเวลามาเขียนให้จบสักที ด้วยความที่งานต่างๆ เยอะมาก กว่าจะหาเวลาว่างมาเขียนให้ได้ตามความตั้งใจไว้อย่างน้อยที่สุด อาทิตย์ละ 2 บทความก็ยังดี ก็สุดแสนจะลำบากอยู่พอสมควร
สำหรับตอนนี้ผมจะมาเล่าและอธิบายเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่เป็นแบบรูปธรรมมากขึ้นให้กับผู้อ่านได้ใช้วิจารณาญาณของตนเองหยั่งดู ว่าในสิ่งที่ผมเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงกันนั้น จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน และขอบอกไว้ก่อนว่าทุกคำทุกประโยคที่เขียน ไม่ได้ชี้นำว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี เป็นเพียงแต่ความเห็นส่วนตัวของผมเอง จึงไม่ใช่การตัดสินในเรื่องต่างๆ โดยยึดตัวเองเป็นหลักแต่อย่างใด
การนำแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้อย่างไรให้ได้ผล?
ในบทความตอนนี้ผมจะเปรียบเทียบการทำเกษตรในรูปแบบเชิงเดี่ยว (Monopoly Agriculture) เปรียบเทียบกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ( New Agriculture Theory)
ในหน่วยการเกษตรขนาดเล็ก หรือระดับครัวเรือน พื้นที่นาหรือพื้นที่ทำการเกษตรของแต่ละครอบครัว ประมาณ ไม่ควรเกิน 10-20 ไร่ ไม่ใช่การทำเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ทำแต่อย่างใด เป็นการเปรียบเทียบแบบองคาพยพของการทำเกษตรทั้ง 2 รูปแบบ ให้เห็นความเป็นจริง แต่ไม่ใช่การตัดสินว่าการทำเกษตรแบบไหนดีกว่ากัน
ผมนำประสบการณ์จากการทำเกษตรอินทรีย์ของผมเองมาเล่าเรื่องบรรยายและอธิบายไปด้วย จากเมื่อต้นปี 2559 ผมได้น้อมนำแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของพ่อหลวง มาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นทำเกษตรของผมเลย โดยหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง คือ แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ดังนี้ 30:30:30:10 จากใน 100 ส่วน
ซึ่งก็คือการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง คือ ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 30% ของพื้นที่ เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการทำเกษตร
ส่วนที่สอง ให้ปลูกข้าวจำนวน 30% ของพื้นที่ ใช้เพื่อเป็นแหล่งอาหารหลัก
ส่วนที่สาม ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น 30% ของพื้นที่ เป็นการทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน
ส่วนที่สี่ 10% ที่เหลือ ไว้เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ปีที่ 1
ปีแรก : ในช่วงเริ่มแรกเลย ผมไม่มีเงินทุนมากนัก แต่ก็ได้วางแผนไว้คร่าวๆ ในใจอยู่แล้วว่าจะทำเกษตรให้ออกมาในรูปแบบไหน เพราะแต่เดิมพื้นที่นาของผมจะทำนาอย่างเดียว ตามฤดูกาลปีละครั้ง เนื่องจากเป็นนาดอน ทำให้หน้าแล้งขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก อันดับแรกเลยที่ผมได้ทำ ก็คือ ขุดสระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยได้มีโครงการขุดสระน้ำเพื่อพัฒนาที่ดินของทางราชการมาพอดี ผมจึงไปติดต่อดำเนินการทำเรื่องขอขุด ทำให้ประหยัดต้นทุนในตอนแรกไปได้มาก
จากพื้นที่นาของผมจำนวน 4 ไร่ ลักษณะพื้นที่จะแคบยาวไปติดกับพื้นที่นาใกล้เคียงกับคนอื่น ในเริ่มแรกเลย ผมก็ได้ขุดสระไว้เพื่อกักเก็บน้ำ ขนาดความจุ 1,260 ลบ.ม. ขนาดยาว 33 เมตร กว้าง 14 เมตร ลึก 3.5 เมตร สามารถจะเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตรได้อย่างเพียงพอจนถึงหน้าแล้งครับ แม้ว่าจะลดลงไปจนเหลือเพียงหัวเข่า และก็ใช้เลี้ยงปลาในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย
เดี๋ยวผมจะเล่าเปรียบเทียบให้คุณฟังอีกเยอะ แอฟเฟคแรกตามไป แอฟเฟคที่สองที่สามยังตามมาอีกเยอะครับ แม้แต่การขุดสระเก็บน้ำชาวนาหรือชาวบ้านเขาผ่านมาเห็นเข้าก็ยังนึกไม่ถึงคิดไม่ออกหรือคาดไม่ได้ว่าผมกำลังจะทำอะไร เขาก็เพียงแต่ร้องอุทานว่า อ๊ะ อั๊ยยะ! ขุดทำไม่ละลูกเสียพื้นที่ทำนาเปล่าๆ แล้วเขาก็ขำในตัวผม เล่าลือไปหนาหูขึ้น แม้แต่การทำนาที่ผมไม่ใช่ปุ๋ยเคมีเลย ผมทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักแทน เขาก็มายืนดูแบบงงๆ เพราะเขาใช้ปุ๋ยเคมีกันเยอะมากๆ ในพื้นที่นาข้างเคึยง
สรุปผลสุดท้ายผมก็ได้ผลผลิตในการปลูกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกันเทียบต่อพื้นที่ อาจจะได้มากกว่าซะด้วยซ้ำ และผมยังสามารถมีรายได้จากการเลี้ยงปลาในบ่อหรือสระน้ำที่ผมขุดไว้อีกด้วย ชาวนาหรือเกษตรกรที่ยังยึดหลักเดิมๆ เขาก็ได้ผลผลิตไม่คุ้มกับต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายาของเขาแต่อย่างใด เพราะต้นทุนในการทำนาของผมน้อยนิดมาก เสียเพียงค่ารถไถไม่กี่พันบาทกับค่าจ้างเก็บเกี่ยวไม่เท่าไหร่ ก็ได้ข้าวอินทรีย์ไว้บริโภคเพียงพอแล้ว แต่ถ้าลองเปรียบเทียบในหน่วยที่ใหญ่ขึ้นไป ถ้าเขาทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ พันไร่ ผมก็ยังไม่อยากจะนึกภาพเลยว่าเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำนามากแค่ไหน ประกอบกับราคาข้าวก็มีความไม่แน่นอนเอาเสียเลย อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า มันเป็นอย่างไรสำหรับประเทศไทยของเรา ไม่ต้องบอกก็รู้ ให้ไปคิดเอาเองแล้วกันว่าการปลูกข้าวแบบไหน มันดีกว่ากัน
* ในช่วงของการทำนา ตอนที่ข้าวเขียวเต็มท้องนา และมีน้ำใส มีปลาตามธรรมชาติเต็มไปหมด ผมชอบบรรยากาศในช่วงนี้มากที่สุดครับ ปีหนึ่งจะได้เห็นแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ช่วงฤดูกาลทำนามีกิจกรรมสนุกสนานให้ทำมากมาย เกี่ยวกับกิจกรรมการทำนาไถนา ดำนา เลี้ยงปลาในนาข้าว รอจนข้าวสุกเหลืองเต็มท้องนา และเก็บเกี่ยว นี่ถือเป็นช่วงพีคใน Feeling ของผมอยู่พอสมควร เป็นความสุขที่ได้จากชีวิตชาวนาที่คนกรุงหาไม่ได้อย่างแน่นอนครับ บางทีผมยังแอบย้อนกลับไปนึกอยู่เหมือนกันว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำไมช่วงเวลาแบบนี้มันหายไปนะ
* ผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่ผมปลูก ได้เมล็ดข้าวเต็มรวงดีมาก ปราศจากสารเคมี เวลาหุงข้าวจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง นี่เป็นพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ครับ
หลังจากนั้นก็มาคิดไตร่ตรองดูว่าจะเลี้ยงแบบเดิมไม่ได้แล้ว ผมจึงหันมาเลี้ยงแบบธรรมชาติครับ คือ ให้หัวอาหารในช่วงแรกครับ จากนั้นก็ปล่อยให้หากินเองตามยถากรรม เอ้ย! ตามธรรมชาติครับ โดยทำการจัดสรรระบบนิเวศน์เลียนแบบธรรมชาติให้เขาครับ คือ หาผักบุ้ง ผักกะเฉดน้ำ และจอกแหนมาใส่ในบ่อ นานๆ ทีก็เอามูลไก่จากไก่บ้านที่เลี้ยงใส่บ้างไม่เยอะ และไม่เร่งรีบให้เขาโตครับ ก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุนครับ เพราะเลี้ยงแบบไว้กิน จับขายบ้างเล็กน้อย นี่ก็เป็นปีที่ 3 แล้วครับ ในการเลี้ยงปลา
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ปีที่ 2
ในปีที่สอง ผมก็ได้ขุดบ่อขนาดเล็กไว้ที่ท้ายสวนอีกหนึ่งบ่อขนาด 10x10 เมตร ลึก 4 เมตร เพื่อเป็นที่เก็บกักสำรองน้ำไว้ใช้ราดรดพืชยืนต้น คือ ต้นไผ่กิมซุง (ไผ่ตงลืมแล้ง) ที่ผมปลูกไว้บริเวณท้ายสวนนี้ จำนวน 100 ต้น กินพื้นที่ก็ประมาณเกือบงาน และบ่อที่ท้ายสวนนี้ นอกจากจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอแล้ว ยังใช้เลี้ยงปลาได้อีกด้วย โดยผมได้ขุดคลองเชื่อมเป็นแนวคูคลองขนานมากับแนวที่ดิน และไว้เป็นแนวคันดินขนาดกว้างพอที่จะปลูกไผ่ไว้เป็นแนวรั้วได้ และสามารถปลูกพืชอื่นๆ แซมได้ด้วย โดยได้ขุดเชื่อมจากบ่อเล็กท้ายสวนมาหาบ่อใหญ่หน้าสวน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย และบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์
ในขั้นตอนนี้ก็ต้องอาศัยทุนครับ ในการจัดสรรพื้นที่อยู่บ้าง ก็มีที่พึ่งของเกษตรกรทั่วประเทศ ก็ ธ.ก.ส.นั้นแหละครับ กู้มาแต่พอประมาณครับ ผมก็นำมาจัดสรรพื้นที่ จ้างเขาปรับพื้นที่นา ขุดสระเพิ่มและขุดคูคลอง เพื่อจะจัดสรรเป็นสวนเกษตรผสมผสานแบบเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต ตามรูปภาพคุณจะเห็นว่าเป็นพื้นที่นาว่างเปล่าเลย แต่ถึงปัจจุบันค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากเดิมไปมากแล้ว จากแนวคูคลองที่ขุดนี้ ในช่วงฤดูทำนาผมก็ยังได้เลี้ยงปลาในนาข้าวเสริมก็ทำให้มีอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนแบบไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปี และยังช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารปลาด้วยเพราะปลาเขาโตเองตามธรรมชาติ
* คูคลองนี้ผมได้จ้างขุดครั้งแรก ให้ขุดเป็นร่องเล็กไปหน่อย และไม่ได้คำนวณเผื่อว่าดินจะทรุดหรือถล่ม ทำให้สภาพตอนนี้เกิดดินถล่ม ทำให้คูคลองตื่นเขินขึ้นมาก แต่ก็เป็นร่องลำเลียงน้ำ และถ่ายเทน้ำไปปลูกข้าวในช่วงฤดูทำนาได้เป็นอย่างดี ผมมีโครงการจะเปลี่ยนเป็นคลองขนาดเล็กไปเลย โดยทำเป็นโมเดลแบบโคกหนองนา ในระยะเวลาอันใกล้นี้
* บ่อขนาดเล็กที่จ้างขุดไว้ท้ายสวน เป็นที่เก็บกักน้ำให้กับสวนไผ่ครับ สภาพในช่วงแรกที่ขุดแล้วฝนก็ตกลงมาทุกวัน สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ที่สำคัญยังได้กำไรสองต่อ ได้มีปลาช่อนหรือปลาอื่นๆ จากธรรมชาติเขามากับน้ำ มาอยู่อาศัยเยอะครับ ก็จับกินจับขายได้อีกต่อหนึ่ง
สำหรับพืชที่ผมปลูกในช่วงแรกที่เริ่มทำเกษตร คือผมได้ปลูกถั่วดิน เพื่อช่วยปรับสภาพดินจากการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำนาบนพื้นที่นี้มาอย่างหนักตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และก็เริ่มนำพืชระยะกลาง เป็นต้นกล้วย มาปลูกไว้ตามแนวขอบบ่อและคูคลอง และมองหาพืชที่โตไวและให้ผลผลิตได้ทันกิน ภายใน 1-2 ปี ผมก็เริ่มนำไผ่มาปลูกไว้บนพื้นที่บริเวณบ่อเล็กท้ายสวน เหมือนที่คิดไว้ตั้งแต่ทีแรก ละปลูกสลับมาตามแนวคูคลองมาจนถึงหน้าสวน ซึ่งไผ่ก็ได้เริ่มโตและให้ผลผลิตกินหน่อได้บ้างแล้วครับ คาดว่าในอีกปีสองปีก็จะกลายเป็นสวนไผ่ไปเลยครับ
* ในการปรับปรุงบำรุงดินช่วงแรก ถือว่าเหนื่อยมากครับ เพราะบริเวณนี้ใช้ปุ๋ยเคมีมาตลอดระยะเวลา 30 ปี ทำให้หน้าดินแข็งกระด้างไปหมด ในช่วงแรกผมโดยใช้เทคนิคทางธรรมชาติเข้ามามาช่วยคือการใช้จุลินทรีย์ในดิน โดยได้ปลูกถั่วดินเพื่อเพ่ิมไนโตรเจนในดิน และก็ปลูกข้าวแล้วก็ปล่อยให้ตอซังเขาเน่าเปื่อยไปในท้องทุ่งนาเอง เสริมด้วยการนำปุ๋ยคอกมาใส่เพิ่ม โดยใช้จุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลาย ภายในระยะเวลา 2 ปี สภาพดินก็ค่อยๆ ดีขึ้น มีความร่วนซุยกว่าแต่เดิมบ้าง จากการสังเกต
บริเวณที่อยู่อาศัย คือ บ้าน และโรงเรือนเลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เล้าหมู ก็ได้สร้างขึ้นมาเพิ่มเติม เป็นสัดส่วน โดยเน้นทำเป็นเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน คือ ทำไม่มาก แต่เน้นที่การปลูกหรือเลี้ยงหลากหลาย ช่วยตัดปัญหาเรื่องการตลาดที่ไม่แน่นอนทิ้งไป แม้จะไม่ได้เห็นผลกำไรมากนัก แต่ก็เพียงพอต่อการเป็นอยู่กินในชีวิตประจำวัน และลดช่วยลดรายจ่ายค่ากับข้าวได้แน่นอน เห็นผลชัดเจนมากครับ
ในช่วงหน้าฝนปีที่ 1 ปีที่ 2 ของการทำเกษตรอินทรีย์ของผม ฝนจะตกดีมาก ผมถึงรู้ว่าในการทำเกษตรมันไม่ง่ายเลยที่จะหวังผลว่าจะได้ผลผลิตมากเท่านั้นเท่านี้ ประกอบกับบริบทสภาพแวดล้อม และภูมินิเวศพื้นที่แถวบ้านผม จ.สุรินทร์ (อิสานใต้) ก็ไม่เอื้อต่อการปลูกพืชได้หลากหลายชนิด หรือพืชสายพันธุ์ต่างถิ่นมากนัก เพราะถ้านำมาปลูกก็จะต้องใช้เทคโนโลยี Know-How และต้นทุนสูงอยู่พอสมควร
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ปีที่ 3
ในปีที่ 3 จะเห็นได้ว่าในการทำเกษตรอินทรีย์ของผม จะค่อยๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างไปทีละส่วน โดยไม่ได้เร่งรีบแต่อย่างใด ตามกำลังทรัพย์ กำลังกาย และอัตภาพของตนเอง แต่ไม่ได้หวังผลเลอเลิศ จากการทำเกษตรมากนัก เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่จะส่งผลหรือเป็นตัวแปร แต่เมื่อเทียบเคียงกับชาวนาหรือเกษตรกรที่ทำเกษตรในรูปแบบเดิม คือ ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมี ก็พอที่จะทำให้ผมมองภาพออกชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งที่ผมได้ยึดไว้เป็นหลักในการทำเกษตรตั้งแต่ต้นไม่ผิดเพี้ยนหรือไม่หลงทางแน่นอน แม้จะต้องใช้ระยะเวลา และความอดทนอยู่มากก็ตาม
เข้ามาในช่วงปีที่ 3 ที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง คือ สภาพฟ้า อากาศไม่เป็นใจ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปลูกข้าวก็ไม่ได้ผลมากนักฤดูกาลที่ผ่านมา ตลอดจนพืชผลต่างๆ ก็พลอยเสียหายไปด้วย ด้วยสภาวะอากาศที่แปรปรวนเป็นอย่างมากในปีนี้ ทำให้ผมหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรที่คิดๆ ไว้ในหัวอีกหลายอย่าง คงเหลือไว้เพียงการเกษตรที่พอจะทำได้ เพื่อประคองสภาพความเป็นอยู่ให้มีกินและคงอยู่ได้
* การเพาะเห็ดนางฟ้าเห็ดนางรมของผม ทำเป็นฟาร์มขนาดเล็ก 4-5 พันก้อน ทำเพื่อเก็บดอกขาย เป็นรายได้เสริมดีทีเดียว มีรายได้เกือบทุกวัน และก็จะยึดเป็นอาชีพเสริมหรือกิจกรรมทำการเกษตรที่ต้องทำตลอดไปครับ
พัฒนาการในการทำเกษตรอินทรีย์ของผมเข้าช่วงปีที่ 3 ก็ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนเด็กที่เพิ่งหัดเดินได้ และจะต้องเติบโตต่อไปตามกำลัง และศักยภาพของตัวเองในอนาคต กิจกรรมที่ยังคงอยู่ก็มีการเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ เลี้ยงไก่บ้าน และทำฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้าขนาดเล็ก พอจะมีไว้บริโภคในครอบครัว และเหลือไว้ขายบ้าง ถือว่าไม่ถึงกับอัตคัดขัดสน แต่ก็ไม่ร่ำรวยจนสามารถใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อได้แต่อย่างใด
* โรงเรือนเพาะเห็ดหลังแรกที่เริ่มเพาะครับ ทำไม่ใหญ่มาก ณ ตอนนี้ได้ขยายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งโรง ในปีที่สองของการเพาะเห็ด ก็เหมาะสมกับกำลังของตนเองครับ ในการทำและดูแลรักษา
* ดอกเห็ดนางฟ้ากำลังออกหน้าแรกครับ การทำก้อนเห็ดก็ทำเอง โดยเรียนรู้ขั้นตอนและศึกษาจากตำราและสอบถามผู้รู้ มาทดลองทำเอง ผิดบ้างถูกบ้างในช่วงแรกๆ แต่เดี๋ยวนี้ ก็จะชำนาญขึ้นมาเองตามลำดับ ดังนั้นอยากให้คนที่สนใจการเพาะเห็ดให้หมั่นศึกษาหาข้อมูล และทดลองทำด้วยตนเองครับ
อ่านมาจนจะจบบทความแล้ว ยังไม่เห็นข้อเปรียบเทียบใดเลยๆ ใช่หรือไม่?
ผลงานเกิดจากการการลงมือทำ ย่อมดีกว่าการคุยโวโอ้อวดสรรพคุณของตนเองไปก่อนใช่ไหมครับ คุณผู้อ่านเห็นด้วยกับผมไหม ดังนั้นผมจึงต้องลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา แม้จะต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ก็ดีกว่าที่ยังไม่เริ่มต้น ผลงานที่ออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อยเพียงเท่านี้ ไม่อาจเปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่อลังการของการทำเกษตรอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง โดยมีแผนการกลไกสลับซับซ้อนจนชาวนาหรือเกษตรกรผู้ไม่รู้ มีแต่เสียเปรียบและตามไม่ทัน
ครั้น! ผมจะเปรียบเทียบโดยการบอกเล่าไปโต่งๆ เลยก็ไม่ดีใช่ไหมครับ แต่อยากให้ผู้อ่านนึกเปรียบเทียบในใจเอาเองแล้วกันว่าการทำเกษตรในรูปแบบไหนดีหรือไม่ดี เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนะคติเชิงอารมณ์ของบุคคลแต่ละคน ผมคงไม่อาจไปชี้แนะชี้นำ หรือบอกว่าสิ่งที่ชาวนาหรือเกษตรกรเขาทำอยู่มันผิดหรือหลงทางอยู่นะ
การยึดตามรอยพ่อหลวง ร.๙ โดยการทำเกษตรแบบยั่งยืน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง น่าจะเป็นทางรอดเดียวทางเดียว! ที่ผมพอจะนึกได้และลงมือทำตาม หรือว่าคุณยังมีทางรอดอื่นอีกไหมครับ?